คนไทยอาจเพิ่งคุ้นเคยกับคำว่า สถาปนิก และสถาปัตยกรรมมาไม่ถึง 100 ปี รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานคำว่า สถาปก (คำเก่าของคำว่าสถาปนิก) เป็นภาษาบาลีสันสกฤต หมายถึง ผู้สร้าง หรือ การสร้าง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าก่อนรัชกาลที่ 6 จะไม่มีกลุ่มคนทำหน้าที่คิด และสร้างแบบแผนของอาคาร เป็นเวลา 100 กว่าปีที่งานสถาปัตยกรรมไทยถูกสืบทอดจนถูกเรียกว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
หากพูดถึงงานสถาปัตยกรรม เราสามารถออกความเห็นเบื้องต้นได้โดยกล่าวถึง The Principles of Good Architecture ของ Vitruvius ได้แก่ Durability (ความคงทน), Utility (ประโยชน์การใช้งาน), Beauty (ความงาม) แล้วงานสถาปัตยกรรมไทยสามารถตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้โดดเด่นในเรื่องใด?
ความคงทน
“หากพูดถึงงานสถาปัตยกรรมไทยนั้น ส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้มักเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน พระราชวัง หรือวัด ล้วนใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่นไม้ชนิดต่างๆมาใช้ในการก่อสร้าง หรืออิฐที่เผาจากวัสดุธรรมชาติ มักจะมีการเสื่อมของวัสดุเสมอ เนื่องจากประเทศไทยมีอากาศร้อนชื้น ทำให้วัสดุมีการหดขยายตัว และผุพังไปตามกาลเวลา ทำให้เราไม่สามารถรักษาสถาปัตยกรรมไทยในยุคต่างๆได้ด้วยข้อจำกัดทางวัสดุ และการดูแลรักษา”
ประโยชน์การใช้งาน
“หนึ่งเป็นที่อยู่อาศัย หากของสามัญชนก็จะมีลักษณะเป็นเรือนไม้ธรรมดาตามแต่ละท้องถิ่น ส่วนของชนชั้นสูงก็จะมีลักษณะร่วมกัน อาจจะวิจิตรกว่าของสามัญชน สองเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนา(พุทธ) ตามการใช้งานของพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำสังฆกรรม ประดิษฐานพระพุทธรูป เก็บคัมภีร์ หอระฆัง หรือเจดีย์ ที่ใช้ระลึกถึงศาสนา ซึ่งตอบโจทย์กับพฤติกรรมทางศาสนาโดยตรง จึงนับว่าเป็นงานที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยอันมีเอกลักษณ์ที่แสดงความเป็นไทยชัดเจน”
ความงาม
“ความงามในที่นี้น่าจะหมายถึงงานสถาปัตยกรรมไทยนั้นสามารถประยุกต์ปรับเปลี่ยนและพัฒนาจนเกิดความประณีตสวยงามในรายละเอียด และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม คุณค่าน่าจะอยู่ที่การได้เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในอดีตที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นงานที่มาจากรากทางวัฒนธรรมไทยอย่างเห็นได้ชัด เพราะเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรม ทั้งทางศิลปกรรม การศึกษา ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่คุณค่าทางเศรษฐกิจ ด้านความงามไม่น่าจะเป็นรองใคร เพราะมีความประณีตมาดังที่ได้เห็นจากงานสถาปัตยกรรมไทยตามสถานที่ต่างๆ”
“……แต่หากมองสถาปัตยกรรมทุกชิ้นในประเทศไทย บางชิ้นก็ไม่สามารถอ้างอิงกฎบางข้อได้ เนื่องจากส่วนตัวมองว่าคนไทยบางกลุ่มมองว่า ลักษณะการใช้งาน หรือความงามบางอย่างไม่ใช่เรื่องจำเป็น ขอเพียงให้พอใช้งานได้ก็เพียงพอแล้ว”
สังคมไทยมีระบบความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนาค่อนข้างเข้มงวด สถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีใช้สัญลักษณ์ และรูปแบบอาคารที่มีการแสดงความหมายถึงทั้งสองสถาบันในเชิงเหนือมนุษย์ ความสำคัญในช่วงศตวรรษนี้อาจไม่ได้อยู่ที่ผู้สร้างอาคารต้องการบอกความหมายอันสูงส่งของทั้งสองสถาบันเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงการตอบสนอง และบทบาทของสถาปนิกในด้านวัฒนธรรมด้วย
“ส่วนตัวนั้นมองว่า เรากำลังรับใช้ชาติ มันคือสิ่งที่สถาปนิกในไทยควรให้ความสำคัญ เพราะมันคือการคงไว้ซึ่งรากฐานแห่งวัฒนธรรม เป็นทั้งมรดกและภูมิปัญญาที่สั่งสมมานาน ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรา (สถาปนิกไทย)
ที่มีหน้าที่รักษา แต่ควรเป็นทุกคน เพราะจะให้งานบูรณะนั้นพัฒนายิ่งขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจดูแล เพราะเป็นมรดกของชาติ
ในขณะเดียวกันมรดกทางปัญญาในการสร้างสถาปัตยกรรมไทยก็อาจไม่เคยถูกแผ้วถางจากชนชาติที่ริเริ่มใช้และให้ความหมายคำว่า สถาปนิก และสถาปัตยกรรม แล้วการสืบสาน สืบทอดในฐานะของสถาปนิกที่ออกแบบงานสถาปัตยกรรมไทย กับกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่สถาปนิกแต่ได้หยิบจับงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย อาจมีแนวร่วมในการศึกษาการออกแบบ
“มันก็จะเหมือนกับคำที่ว่า ครูพักลักจำ ไม่ได้มีกระบวนการที่ถูกต้อง เพราะสถาปนิกไทยมี sense ของความเป็นไทย โดยหากไม่ได้เรียนรู้สัดส่วนที่ถูกต้องก็จะออกแบบมาได้เพียงของลอกเลียนแบบที่ไม่ได้มีความงาม.....ในฐานะสถาปนิก เราเริ่มเรียนรู้แม่แบบผ่านงานครู เพื่อเข้าใจระเบียบวิธีให้ถ่องแท้ก่อน โดยศึกษาจากงานจริง โดยใช้ทักษะการใช้มือ และความชำนาญบนพื้นฐานการเขียนเส้นแบบไทย ซึ่งเป็นทักษะการเรียนในเชิงช่างประการหนึ่ง การเรียนรู้ทักษะการออกแบบสถาปัตยกรรมของสถาปนิกไทยจึงต้องฝึกความเป็นช่าง และสถาปนิกไปพร้อมๆกัน”
-
1 สัมภาษณ์ นางสาวธณัฏฐา เต็มวงษ์
2 สัมภาษณ์ นางสาวธณัฏฐา เต็มวงษ์
3 สัมภาษณ์ นางสาวธณัฏฐา เต็มวงษ์
4 สัมภาษณ์ นายจักรฤษณ์ โมรา
5 สัมภาษณ์ นางสาวธณัฏฐา เต็มวงษ์